วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สินค้าบุญ สินค้าบาป (Merit-Demerit Goods)



สินค้าบุญ สินค้าบาป



    "สินค้าและบริการ" (Goods and services) ตามคำจำกัดความของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว คือ สิ่งที่ได้จากการทำงานร่วมกันของปัจจัยการผลิตต่างๆ เป็นสิ่งที่มีอรรถประโยชน์(Utility)มากกว่าศูนย์ สามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าความต้องการนั้นจะขัดต่อสุขภาพอนามัยหรือศีลธรรมอันดีงามหรือไม่ก็ตาม อาทิ ทองรูปพรรณ ตำราเรียน เทปเพลง ยารักษาโรค หรือบุหรี่


เนื่องจากสินค้าและบริการนั้นมีมากมายจึงมีการแบ่งประเภทสินค้าและบริการด้วยกันทั้งหมด 9 วิธี โดยหนึ่งในนั้นคือการแบ่งตามคุณและโทษที่ตกแก่สังคมส่วนรวม ได้แก่ "สินค้าบุญ" (Merit goods) และ "สินค้าบาป" (Demerit goods)




"สินค้าบุญ" (Merit goods) หรือ "กุศลทรัพย์" หรือ "สินค้าคุณธรรม" คือ สินค้าหรือบริการที่เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดบริโภคแล้ว จะทำให้บุคคลอื่นๆในสังคมพลอยได้รับผลประโยชน์ไปด้วย หรือให้ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ยกตัวอย่างเช่น บริการทางสาธารณูปโภค สาธารณสุข การศึกษา การเคหะ การดับเพลิง






สินค้าบุญนั้นหากว่าระบบตลาดเสรีล้มเหลวในการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้มีการผลิตหรือบริโภคน้อย เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การสาธารณสุข การให้การศึกษาและฝึกอบรม จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในการผลิตสินค้าบุญนี้ เพราะหากผลิตสินค้าที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มีราคาตกต่ำลง คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าที่จะปล่อยให้การผลิตและการกระจายสินค้า ประเภทนี้เป็นไปตามกลไกตลาดที่คนรวยจะได้เปรียบคนจน





แนวคิดเกี่ยวกับสินค้าคุณธรรม (merit good) ในทางเศรษฐศาสตร์นำเสนอโดย ริชาร์ด มัสเกรฟส์ (Richard Musgrave1957, 1959) คือ สินค้าอุปโภค (commodity) ที่ตัดสินโดยบุคคลหรือสังคม บนพื้นฐานของความต้องการ (need) ที่มากกว่าความสามารถและความเต็มใจที่จะจ่ายชำระ (ability and willingness to pay) 

ตลาดสินค้าคุณธรรม (merit good) เป็นตัวอย่างของตลาดที่ไม่สมบูรณ์ (incomplete market) สินค้าคุณธรรมมีลักษณะพื้นฐานสองประการ 

ประการแรก เป็นเหมือนสินค้าส่วนตัว ผลประโยชน์ส่วนตัวสุทธิของผู้บริโภค ที่ไม่ได้คิดคำนึง (recognised) ในขณะที่บริโภค

ประการที่สอง เมื่อมีการบริโภคสินค้าคุณธรรม จะเกิดผลประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่น จากประโยชน์ที่สังคมได้รับนี้ เป็นการบริโภคที่ไม่ได้คิดคำนึงหรือไม่เป็นที่ยอมรับ





"สินค้าบาป" (Demerit goods) หรือ "อกุศลทรัพย์" คือสินค้าหรือบริการที่เมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดบริโภคแล้ว อาจทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนหรือเป็นภัยต่อสังคม หรือผู้บริโภคเองในภายหลัง ได้แก่ สิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ อาทิเช่น เหล้า บุหรี่ บ่อนการพนัน สิ่งเสพติดให้โทษต่างๆ






สินค้าบาป (Demerit goods) สามารถเป็นอันตรายได้ทั้งต่อร่างกาย (บุหรี่) อันตรายต่อจิตใจ (การพนัน) หรืออันตรายต่อศีลธรรม (โสเภณี) ในหลายกรณีสินค้าบาปอาจมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อที่จะลดการบริโภค ภาษีเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันว่า เป็น “ภาษีบาป” (sin taxes) 




ภาษีบาป (SIN TAX) อาทิเช่น สุรา ยาสูบ สถานประกอบการด้านบันเทิง เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงชา กาแฟ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยในเบื้องต้นจะเก็บภาษีชาและกาแฟ ที่บรรจุอยู่ในกล่องและกระป๋อง


“สิ่งเสพติดให้โทษ” หมายถึง "สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจใน ลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อยๆ มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา และทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืช หรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยา เสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่"

- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2528


โดยจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา ๗ ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ

(๑) ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)

(๒) ประเภท ๒ ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) ฝิ่นยา (Medicinal Opium)

(๓) ประเภท ๓ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

(๔) ประเภท ๔ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)

(๕) ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น กัญชา พืชกระท่อม
ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามมาตรา ๘ (๑)

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า ฝิ่นยา (Medicinal Opium) หมายถึง ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา


 โดยในทางกฎหมายตั้งแต่มาตราที่ ๑๕ ถึง ๒๖ แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในทุกประเภท










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น